24 มกราคม​ 2566 – นายแพทย์นิวัฒน์ จี้กังวาฬ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี กล่าวว่า “โรคอ้วนเป็นปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ข้อมูลเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าข้อมูลจากปี 2557 ถึงปัจจุบันพบว่า คนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะอ้วน และกว่า 20.8 ล้านคน หรือร้อยละ 37.5 มีคนรอบเอวเกิน หรืออ้วนลงพุง ซึ่งทั้งคู่เป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)1 โรคอ้วนทำให้ผู้ป่วยอายุสั้นลงถึง 8 ปี อีกทั้ง การแพร่ระบาดของโควิด 19 ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของโรคอ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยงที่มีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อวิด 19

โรคอ้วนยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) รายงานว่าผู้ป่วยโรคอ้วนมีค่าใช้จ่ายเนื่องจากโรคหรือปัญหาสุขภาพมากกว่า 62,000 บาท ต่อคน ต่อปี และประเทศใช้งบประมาณราว 12,000 ล้านบาท ต่อปี โดย 46% เป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และ 54% เป็นต้นทุนทางอ้อม เช่น ค่าเสียโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และขาดรายได้เนื่องจากต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 2

แม้โรคอ้วนจะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ แต่ก็สามารป้องกันและรักษาให้หายได้ โรงพยาบาลฯ จึงได้เปิดตัวแคมเปญลดล้านโล เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวพลัสไซส์ร่วมกันพิชิตเป้าหมายลดน้ำหนักรวม 1 ล้านกิโลกรัม เพราะการลดน้ำหนักจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน และโรคมะเร็งอีกหลายชนิด เพื่อช่วยให้ชาวพลัสไซส์มีสุขภาพที่ดี ตามปณิธานโรงพยาบาลฯ เราไม่อยากให้ใครป่วย”

นายแพทย์ณรงค์ บุญญกาศ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร กล่าวว่า “จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่า ความอ้วนนั้นเป็น ”โรค” เนื่องจากเมื่อเรามีภาวะอ้วนเกิดขึ้นแล้ว โรคต่างๆก็จะตามมาอีกมากมาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคนอนกรน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งสุดท้าย จะทำให้เรามีอายุขัยที่สั้นลง การวินิฉัยโรคอ้วน สามารถอาศัยการวัดดัชนีมวลกาย(BMI) ซึ่งในคนปกติ จะมีค่าระหว่าง 18.5-25 ถ้ามากกว่า 25 ถึอว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน ถ้ามากกว่า 30 ถือว่ามีภาวะอ้วน แต่ถ้ามากกว่า 40 ถือว่ามีถาวะอ้วนทุพลภาพ

การรักษาโรคอ้วนมีหลายวิธี การคุมอาหาร การออกกำลัง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ผลสำเร็จนั้น ต้องอาศัยความตั้งใจและวินัยค่อนข้างมาก ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ทำได้สำเร็จมีไม่ถึง 5% แต่ก็เป็นวิธีการที่แนะนำให้ปฏิบัติเป็นสิ่งแรกในการลดน้ำหนัก ในปัจจุบัน การผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการรักษาผู้ที่มีโรคอ้วน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง ส่งผลให้ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดน้อย แผลเล็ก ทำให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ไว จากการศึกษาพบว่า การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดนั้น เป็นการรักษาโรคอ้วนที่ได้ผลมากที่สุด ซึ่งนอกจากจะทำให้น้ำหนักลดลงแล้ว ยังทำให้โรคร่วมต่างๆ หายไป หรือดีขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง”

นายอาร์มินโช โอมาน “ปัจจุบันอายุ 27 ปี เป็นคนอ้วนมาตั้งแต่กำเนิด เมื่อปีที่แล้ว ตนเองมีปัญหาสุขภาพถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล จึงได้เริ่มออกกำลังกายอย่างจริงจัง เพราะไม่อยากป่วยไปตลอด ตอนนี้ลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายกับเทรนเนอร์จากน้ำหนักเดิม 172 กิโลกรัม ปัจจุบัน 167 กิโลกรัม น้ำหนักตัวที่ลดทำให้สุขภาพดีขึ้นมาก กะปรี้กะเปร่า และยังสร้างความภูมิใจให้กับตัวเองที่สามารถเอาชนะอุปสรรคที่ยากได้  ผมทำคลิปออกกำลังกายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนๆ ทุกคนได้เห็นในความมุ่งมั่น ไม่สนใจคำสบประมาท ไม่ล้มเลิกจนกว่าจะสำเร็จ และดีใจมากที่ได้ร่วมแคมเปญ #ลดล้านโล เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชาวพลัสไซส์ การลดน้ำหนักไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ไม่อยากเกินไปถ้าพวกเราตั้งเป้าหมายไปด้วยกัน อยากเชิญชวนเพื่อนๆ ชาวพลัสไซส์เข้าร่วมแคมเปญ #ลดล้านโล ช่วยกันพิชิต 1 ล้านกิโลกรัม  เพียงแค่โพสต์คลิบบนโซเชียลมีเดียแล้ว #ลดล้านโล เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กัน เพื่อการมีสุขภาพที่ดี ไม่ป่วย ความมั่นใจและความภูมิใจในตัวเองเป็นรางวัล เริ่มทำวันนี้เพื่อเปลี่ยนชีวิตไปด้วยกันครับ”

อ้างอิง
1 เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, www. thaihealth.or.th, โรคอ้วน ประตูสู่โรคร้าย
2 Teerawattananon, Yot; Luz, Alia (2017) : Obesity in Thailand and its economic cost estimation;\, ADBI Working Paper, No. 703, Asian Development Bank Institute (ADBI), Tokyo

Facebook Comments Box